คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่
รู้จักบาหลี
ประวัติศาสตร์
เชื่อกันว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบาหลีน่าจะอพยพมาจากประเทศจีนเมื่อสมัย 2,500 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ หลงเหลืออยู่ ส่วนหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ยังปรากฎ เช่น ระบบของการทำเกษตรกรรม และการผลิตข้าว เช่นเดียวกับที่ยังพบเห็นได้ในปัจจุบันมาจากยุคสำริด คือประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล และมีการพบหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์เป็นโบราณวัตถุทางศาสนาฮินดูจากศตวรรษที่ 3 และ 4 แต่ภายหลังปรากฎว่าศาสนาพุทธได้กลายเป็นศาสนาประจำของชาวบาหลีในยุคแรก เพราะคำว่าบาหลีถูกพบในบันทึกของนักปราชญ์ชาวจีนเมื่อปีคริสตศักราชที่ 670 ว่าขณะเดินทางไปยังอินเดีย ได้แวะยังดินแดนชาวพุทธแห่งหนึ่งซึ่งก็คือบาหลีนั่นเอง
จนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 บาหลีจึงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของฮินดูและชวา เจ้าชายแห่งบาหลีในขณะนั้นได้แผ่อิทธิพลไปครอบครองทางฝั่งตะวันออกของชวา และสถาปนาน้องชายให้เป็นผู้ปกครองบาหลี ศาสนาฮินดูจากชวาจึงเข้ามายังบาหลี
บาหลีเองยังคงเป็นเอกราช จนกระทั่งปี ค.ศ. 1284 กษัตริย์เกอร์ตาเนการาที่ปกครองชวาตะวันออกได้เข้าครอบครองบาหลี ถึงปี ค.ศ. 1292 จึงได้เป็นอิสระอีกครั้ง เนื่องจากกษัตริย์เกอร์ตาเนการาถูกลอบปลงพระชนม์
อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1343 บาหลีก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชวาอีกครั้งในสมัยของมัชปาหิต (Majapahit) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่จนเมื่อมีการแผ่ขยายของศาสนาอิสลามจากเกาะสุมาตราและชวาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทำให้อาณาจักรมัชปาหิตล่มสลายลง ราชนิกูลและศิลปินแขนงต่างๆ รวมทั้งนักบวชพากันลี้ภัยเข้ามาอยู่ในบาหลี อันเป็นผลให้ศิลปะของชวาดั้งเดิมเจริญรุ่งเรืองต่อมาที่บาหลี จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบาหลีเลยทีเดียว
บาหลีในยุครุ่งเรืองแบ่งการปกครองออกเป็นอาณาจักรต่างๆ แต่ละอาณาจักรแย่งชิงอำนาจกันบ้าง ปรองดองกันบ้าง แต่ก็อยู่กันด้วยความสงบสุขจนชาวผิวขาวเข้ามาถึงบาหลี
ชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือผ่านมาขึ้นบกยังบาหลีคือชาวดัตซ์เมื่อราวปี ค.ศ. 1597 แต่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะครอบครองบาหลีทั้งที่ได้ดินแดนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไว้เป็นอาณานิคมแล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1846 ดัตช์จึงเริ่มส่งกองทหารสู่บาหลีและเข้ายึดครองอาณาจักรต่างๆ ทีละอาณาจักร โดยใช้กองกำลังทหารเข้าบีบบังคับให้รายายอมจำนน ซึ่งรายาและราชวงศ์ส่วนใหญ่ของบาหลีเลือกวิธีรักษาศักดิ์ศรี โดยไม่ยอมตกเป็นข้าเมืองขึ้นด้วยวิธีการฆ่าตัวตายหมู่ (Puputan) ทั้งราชสำนัก ไล่เรียงจากที่เดนปาซาร์ในปี ค.ศ. 1906 และที่กลุงกุงในปี ค.ศ. 1908 จนปี ค.ศ. 1911 บาหลีทั้งหมดก็ตกเป็นของดัตช์โดยสิ้นเชิง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดัตช์ได้ถูกญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นสามารถยึดครองอินโดนีเซียได้ในระหว่างปี ค.ศ. 1942-1945 ขับไล่ออกไป แต่เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ดัตช์เองพยายามที่จะกลับมาปกครองอินโดนีเซียทั้งหมดอีกครั้งถึงแม้ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 อินโดนีเซียจะได้รับการประกาศให้เป็นอิสระจากการเป็นประเทศอาณานิคมและมีประธานาธิบดีคนแรกคือซูการ์โน แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 4 ปีเพื่อให้ได้เอกราชอย่างแท้จริง เพราะดัตช์ไม่ยอมวางมือ กระทั่งรัฐบาลดัตช์ทนต่อการกดดันจากนานาชาติไม่ไหวจึงล้มเลิกความพยายามในปี ค.ศ. 1949 ทำให้อินโดนีเซียได้เป็นประเทศเอกราชอย่างเต็มภาคภูมิ โดยมีบาหลีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศด้วยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บาหลีวันนี้
บาหลีเป็นเกาะที่มีความสวยงามด้วยธรรมชาติที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานับพันปี มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก เช่น วัดและวัง ซึ่งมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชายหาดที่สวยงามและขาวสะอาดตา ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการดำรงชีวิตของคนบาหลีด้วยวิธีการกสิกรรมแบบดั้งเดิม บาหลีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทั่วโลกรู้จักเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เพราะเหล่าศิลปินจากยุโรปได้เดินทางเข้ามา และต่างก็หลงใหลในความงามตามธรรมชาติกับวัฒนธรรมอัดงดงามตามธรรมชาติกับวัฒนธรรมอันงดงามของบาหลีจึงได้ผลิตงานเขียนและภาพวาดไปเผยแพร่ในยุโรป ทำให้ใครต่อใครอยากมาเยือนสวรรค์บนดินแห่งนี้ จีงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากมุมโลกกว่า 1,000,000 คนต่อไป เดินทางเข้ามาชมความงดงามทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของบาหลี กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณสูงสุดคือออสเตรเลียและญี่ปุ่น
ภูมิศาสตร์
บาหลีคือหนึ่งในจำนวนเกาะกว่าหมื่นเกาะของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา ใต้จากเส้นศูนย์สูตร 8 องศา มีฐานะเป็นรัฐ มีผู้ปกครองของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นเกาะสุดท้ายทางฝั่งตะวันออกที่มีสภาพแวดล้อมเป็นแบบป่าฝนของเอเชีย เนื่องจากเกาะอื่นที่อยู่ถัดจากบาหลีไปจะได้รับอิทธิพลและมีลักษณะสภาพแวดล้อมเป็นแบบออสเตรเลียและนิวกินี
บาหลีเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 5,620 ตารางกิโลเมตร บริเวณที่กว้างที่สุดมีระยะทาง 140 กิโลเมตร และบริเวณที่ยาวที่สุดก็เพียง 80 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ภูมิประเทศของบาหลีกลับมีความหลากหลายมาก พื้นที่ทางตอนกลางนั้นมีภูเขาไฟซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่สุดของเกาะและยังคุกรุ่นอยู่คือภูเขาไฟกุหนุงอากุง (Gunung Agung) มีความสูงถึง 3,142 เมตร นอกจากภูเขาสูงแล้วยังมีป่าอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับหาดทรายขาวละเอียดทอดแนวยาวไปตามชายฝั่ง ทางตอนใต้เป็นแหล่งปลูกข้าวบนนาขั้นบันได และทางตอนเหนือปลูกกาแฟ เครื่องเทศ และตันสลัก
ภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศของบาหลีเป็นแบบป่าฝนร้อนชื้น อุณหภูมิค่อนข้างคงที่คือประมาณ 26 องศาเซลเซียส และจะมีมรสุมประจำปีที่ทำให้เกิดลมและฝนในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ซึ่งอากาศบริเวณภูเขาจะเย็นกว่าอากาศบริเวณชายทะเลประมาณ 5 องศาเซลเซียส
ช่วงเวลาที่ควรไปเยือน
เวลาที่เหมาะสมในการไปเที่ยวคือระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน แต่ควรระวังช่วงฤดูท่องเที่ยวของชาวตะวันตก (โดยเฉพาะชาวออสเตรเลียที่นิยมมาเที่ยวบาหลีกันมาก) คือ ช่วงระหว่างกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกันยายน รวมทั้งช่วงวันหยุดคริสต์มาสและปีใหม่เนื่องจากที่พักจะมีราคาแพงกว่าปรกติและมักจะถูกจองล่วงหน้าจนเต็มหมดทุกแห่ง
ประชากร
บาหลีมีประชากรประมาณ 3,000,000 คนซึ่งดำรงชีวิต อยู่ด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่และชุมนุมใกล้ชิด มีความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณดังจะเห็นได้จากการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ที่ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังบาหลีปีละนับล้านคน แต่วัฒนธรรมเดิมๆ ก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายการทำกสิกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกแบบขั้นบันได หรือ อาชีพหัตถกรรมต่างๆ คือ วิถีชีวิตที่ยังพบได้ทั่วไปในดินแดนแห่งนี้
ศาสนาและวัฒนธรรม
ศาสนาประจำของชาวบาหลีคือศาสนาฮินดูที่เรียกว่า ฮินดูธรรม (Hindu Dharma) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชวา เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาฮินดูแบบที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ กับศาสนาพุทธซึ่งแพร่หลายเข้ามาก่อนหน้า โดยหลักปฏิบัตินั้นได้มาจากปรัชญาอินเดีย ร่วมกับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อท้องถิ่นการผสมผสานกันนี้เองทำให้ศาสนาฮินดูที่บาหลีแตกต่างจากฮินดูที่อินเดียไปมาก ชาวบาหลีนั้นเชื่อในธรรมชาติว่ามีพลัง และเชื่อในจิตวิญญาณว่าทุกๆ สิ่งจะมีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ นอกจากนี้ยังมีความนับถือในบรรพบุรุษและวิญญาณของผู้ล่วงลับ
อนึ่ง ประชากรของอินโดนีเซียราว 95 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม แต่ประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์บนเกาะบาหลีนับถือศาสนาฮินดู
คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่
รูปภาพโดย http:// www.TripDeeDee.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือคู่มือนักเดินทางฉบับพกพา บาหลี หนังสือในเครือ เที่ยวรอบโลก
|
|