|
|
|
|
ธงภูฏาน |
ภูฏาน |
เทศกาลระบำหน้ากากภูฏาน |
เทศกาลระบำหน้ากาก : ภูฏาน |
|
|
|
|
วัดตัมชู |
เมืองทิมพู เมืองหลวงภูฏาน |
ปูนาคาซอง |
วัดทักซัง |
คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ
รูปโดย http://www.tripdeedee.com
ได้มีโอกาสมาเที่ยวภูฏาน 6 วัน 5 คืน ก้าวแรกที่ได้สัมผัสภูฏานรับได้ถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ความเรียบง่ายของชาวภูฏานและ
มากมายด้วยวัฒนธรรม ผู้คนภูฏาณก็ดูเป็นมิตร
และอบอุ่นให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวดี ระบบการท่องเที่ยวที่ดี การจำกัดนักท่องเที่ยวสังเกตุได้จากเวลาไปแหล่งท่องเที่ยวไหนๆก็ตาม
จะไม่มีคนท้องถิ่นมาสร้างความวุ่นวายกับเราเลยค่ะหากเพื่อนๆ
ที่ชอบการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและวัฒนธรรมภูฏานเป็นอีกที่หนึ่งที่ท่านไม่ควรพลาดค่ะ
ข้อมูลภูฏาน
ชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศภูฎาน คือ ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan)
ภูฏาน (อ่านว่า พู-ตาน) มีสมญาว่า ดินแดนของมังกรสายฟ้า (Druk Tsendhen) หรือ "Land of the Thunder Dragon" เนื่องจากชื่อภูฏานในภาษาถิ่นคือ Druk Yul (ออกเสียงว่า ดรุก-อือ) แปลว่า ดินแดนของมังกร ซึ่งมีที่มาจากเรื่องเล่าว่า ตอนต้นศตวรรษที่ 11 มีลามะชาวทิเบตองค์หนึ่งเดินทางมาหาทำเลที่ตั้งวัดใหม่ในตอนกลางของทิเบต เมื่อมาถึงสถานที่สร้างวัด ท่านได้ยินเสียงฟ้าร้อง เสียงดังกัมปนาทเหมือนเสียงคำรามของมังกร (สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนบนเทือกเขาหิมาลัย) ท่านจึงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า Druk (มังกร) และตั้งชื่ออาศรมที่ใช้เป็นสถานที่สอนศาสนาว่า Drukpa เมื่อชาวภูฏานได้ครอบครองดินแดนในแถบนี้จึงใช้ชื่อประเทศว่า Druk Yul และเรียกตัวเองว่า ดรุกปาส-Drukpa (Drukpas)
สำหรับชื่อประเทศภูฏาน(Bhutan) นั้นมีที่มา 2 แห่งคือ ประการแรก คำว่า ภูฏาน มาจากคำสมาสในภาษาสันกฤต จากคำว่า ภู+อุทาร มีความหมายว่า แผ่นดินบนที่สูง ที่มาอีกแบบจากอินเดีย ซึ่งในอดีตเรียกภูฏานว่า Bhotanta หมายถึงดินแดนทางตอนเหนือของทิเบต
ภูฏานเป็นประเทศขนาดเล็กอยู่ในทวีปเอเชีย ไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยระหว่างจีนกับอินเดีย พรมแดนทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับทิเบต พรมแดนประเทศที่เหลือติดกับอินเดีย ด้านทิศตะวันออกติดกับแคว้นอรุณาจัลประเทศ ทิศใต้ติดกับแคว้นอัสสัมและเบงกอลตะวันตก ทิศตะวันตกติดกับสิกขิม ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของภูฏานเป็นภูเขา ยอดเขาสูงที่สุดอยู่ติดพรมแดนทิเบต คือ Gangkhar Puensum Peak สูงจากระดับน้ำทะเล 7,541 เมตร
เมืองหลวงของภูฏานชื่อ ทิมพู (Thimphu) เมืองสำคัญอื่นๆ คือ ปาโร (Paro) ปูนาคา (Punakha) ตรงซา (Trongsa) บุมธัง (Bumthung) และอูรา(Ura)
เสน่ห์ของภูฏาน
ภูฏานเป็นประเทศเล็กๆที่ถูกปิดล้อมทั้งด้วยธรรมชาติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะถูกขนาบด้วยจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีอิทธิพล แต่ภูฏานสามารถดำรงความเป็นประเทศอิสระมาโดยตลอด ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนักที่เดินทางไปภูฏานได้ เนื่องจากที่ตั้งของประเทศยากแก่การเข้าถึง และนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในประเทศของตนมากเกินไป จึงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าภูฏานเอาไว้ไม่ให้เกินอัตราที่กำหนดคือ ประมาณปีละ 5,000-7,000 คน (สถิติล่าสุดในปี ค.ศ.2004 จำนวนนักท่องเที่ยว 9,000 คน ปีค.ศ.2005 จำนวนนักท่องเที่ยว 15,000 คน) ภูฏานมีชื่อเสียงในความเป็นเมืองพุทธศาสนาบนเทือกเขาหิมาลัย ที่มีธรรมชาติสวยงามบริสุทธิ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น สวรรค์บนดิน
เสน่ห์ของภูฏาน คือ ธรรมชาติอันสวยงามของเทือกเขาหิมาลัย และชีวิตเรียบง่ายสงบสุขของชาวภูฏาน ซึ่งเป็นชีวิตของสังคมเกษตรกรรมที่ยังคงยึดมั่นในคำสอนของศาสนา และดำรงชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายานตลอดมากับทั้งยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งนั้นมากจาก พระราโชบายอันชาญฉลาดของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ทรงต้องการให้ชาวภูฏานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของภูฏานเอาไว้ ถึงแม้ว่าภูฏานจะเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว แต่นโยบายคัดเลือกและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาทำให้ภูฏานสามารถดำรงรักษาเอกลักษณ์ของชาติอันเป็นจุดเด่นในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมและธรรมชาติเอาไว้ได้
ภูฏานเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากสำหรับผู้คนจากโลกภายนอกที่เต็มอิ่มกับความเจริญทางวัตถุ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย จนต้องการแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิตและจิตวิญญาณในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ภูฏานกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกปรารถนาจะได้ไปเยือนดินแดนมังกรสายฟ้าที่ได้ชื่อว่าสวรรค์บนดินแห่งนี้สักครั้งในชีวิต
คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ
รูปโดย http://www.tripdeedee.com่
ประชากร
ภูฏานมีประชากร ประมาณ 725,693 คน ประกอบด้วยชน3 เชื้อชาติ คือ Sharchops (ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก) Ngalops (ชนเชื้อสายทิเบต อยู่ทางภาคตะวันตก) และ Lhotshams (ชนเชื้อสายเนปาล อยู่ทางใต้) ประชากรของภูฏานแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ คือ กลุ่มดรุกปาส (Drukpas) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเชื้อสายทิเบต กับกลุ่มซังลา มีจำนวนมากที่สุด โดยแยกกลุ่มจากภาษาถิ่นที่ใช้กันอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มชาวเนปาลอพยพ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ปัจจุบันรัฐบาลภูฏานพยายามผลักดันให้ประชากรกลุ่มนี้กลับไปยังถิ่นฐานเดิมคือประเทศเนปาล นอกจากชนกลุ่มใหญ่ทั้งสองกลุ่ม ภูฏานยังมีชนกลุ่มน้อยอีกประมาณร้อยละ13 เป็นชาวทิเบต สิกขิมและอินเดีย
ภาษา
ภาษาราชการของภูฏานคือ ภาษาซองคา (Dzongkha) เดิมเป็นภาษาถิ่นที่ใช้กันในแถบตะวันตกของภูฏาน ภายหลังได้กลายเป็นภาษาประจำชาติ ในโรงเรียนมีการสอนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับ ดังนั้น ชาวภูฏานจึงรู้ภาษาอังกฤษและใช้สื่อสารได้ ชาวภูฏานในแต่ละภูมิภาคมีภาษาพูดต่างกัน เช่น คนที่อยู่ทางภาคตะวันออกพูดภาษา Sharchop ส่วนทางใต้ที่มีพลเมืองเชื้อสายเนปาลพูดภาษาเนปาลี และในตอนลางของประเทศ ตามหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ห่างไกลเมืองใช้ภาษาในท้องถิ่นสื่อสารกัน ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษากลางที่ใช้ได้กับคนภูฏานทุกภาค
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ภูฏานมีศาสนาพุทธเป็นหัวใจสำคัญของชนชาติมาตั้งแต่ในอดีตกาล วัดในพระพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของภูฏาน ที่คนทั่วไปรับรู้ว่ากับภูฏานเป็นดินแดนของศาสนาพุทธบนเทือกเขาหิมาลัย วัดสำคัญที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูฏานมีอยู่ 2 วัด คือ วัดคิชูที่เมืองปาโร (Kyichu Lhakhang) กับวัดจัมเบย์ที่เมืองบุมธัง (Jambay Lahkhang)
ในศตวรรษที่ 8 ท่านกูรู รินโปเช (Guru Rinpoche) เป็นผู้ริเริ่มสร้างศาสนสถานขึ้นในภูฏาน ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัดสำคัญที่มีชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของภูฏาน คือ วัด Kurjey Lhakhang ที่เมืองบุมธัง และวัดทักซังที่เมืองปาโร ต่อมาในศตวรรษที่ 13 จึงได้มีการก่อตั้งอาศรมสำหรับสอนศาสนาพุทธนิกายมหายานฝ่ายตันตระวัชรยานขึ้นทางตะวันตกของภูฏาน หลังจากนั้นก็มีพระลามะอีกหลายท่านมาช่วยกันพัฒนาและสืบทอดศาสนาพุทธในประเทศภูฏานจนเป็นปึกแผ่นมาจนถึงทุกวันนี้
ลามะองค์สำคัญของภูฏานในสมัยศตวรรษที่ 17 คือ ท่านซับดรุง งาวัง นัมเยล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) เป็นพระผู้นำอีกองค์หนึ่ง ผู้บุกเบิกสร้างอารามสอนศาสนาพุทธนิกายมหายานในประเทศภูฏาน (มีลามะเหมือนทิเบต เรียกว่า Lamaistic Buddhist) ตลอดเวลากว่า 30 ปี ท่านได้พยายามปลูกฝังและสร้างรากฐานความเป็นชาติของภูฏานด้วยพุทธศาสนาจนเป็นผลสำเร็จ ท่านซับดรุง งาวัง นัมเยล เป็นผู้สร้างอาศรมกึ่งป้อมปราการ หรือซอง (Dzong) ขึ้นที่เมืองทิมพู ท่านได้สร้างวัดและศาสนสถานต่างๆอีกมากมาย และผลักดันจนพระพุทธศาสนาของภูฏาน หรือ Drukpa Kagyu กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติ
เมื่อภูฏานมีศาสนาพุทธเป็นเอกลักษณ์ของชาติแล้ว ท่านซับดรุง งาวัง นัมเยล เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการปกครองของภูฏานให้มีการบริหารประเทศออกเป็น 2 ระบบ ซึ่งเป็นการปกครองที่ประกอบด้วยฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายฆราวาส ฝ่ายศาสนจักรมีพระสังฆราช หรือเจเคนโป (Je Khenpo) เป็นพระประมุข ส่วนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เรียกว่า เดซิ (Desi) ต่างก็มีส่วนในการปกครองท้องถิ่นด้วยภูฏานใช้การปกครองแบบนี้มาเป็นเวลา 2 ศตวรรษ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 ฝ่ายฆราวาสในขณะนั้น คือ เจ้าเมืองตรงซา (Trongsa Penlop) ชื่อว่าจิกมี นัมเยล วังชุก (Jigme Namgyal Wangchuk) ซึ่งเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลมาก จนได้รับการยอมรับนับถือจากชาวภูฏานทั้งหมด เมื่อเกิดการขัดแย้งเรื่องการปกครองที่เมืองปาโร ท่าน จิกมี นัมเยล วังชุก จึงแต่งตั้งลูกชาย ชื่อว่า จิกเยล อูเก็น วังชุก (Jigyel Ugyen Wangchuk) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปาโร เป็นการได้อำนาจการปกครองอาณาจักรภูฏานโดยปริยาย หลังจากนั้น องค์คณะสงฆ์ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนตัวแทนประชาชนได้มารวมตัวกันที่เมืองปูนาคา และทำการเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ จิกเยล อูเก็น วังชุกเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรกของภูฏาน ในปี ค.ศ. 1907 นับเป็นการเริ่มต้นรัชกาลแรกของราชวงศ์วังชุก ต่อมาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระโอรสพระนามเดียวกับพระองค์ได้เป็นพระราชาธิบดีของภูฏานสืบต่อมา โดยการปกครองภูฏานภายใต้พระราชาธิบดีทั้ง 2 รัชกาลสงบราบรื่นดี หลังจากนั้น พระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จิ วังชุก (Jigme Dorji Wangchuk) ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์วังชุก พระองค์ทรงเป็นผู้นำสมัยใหม่ นำความทันสมัยของโลกมาสู่ภูฏาน ทรงปรับปรุงประเทศจนได้รับสมญานามว่า พระบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่ (Father of Modern Bhutan) ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระองค์ทรงนำภูฏานเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และทรงพัฒนาประเทศและปรับปรุงมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวภูฏานให้ดีขึ้น
ราชวงศ์วังชุกปกครองประเทศภูฏานมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก (Jigme Singye Namgyal Wangchuck) ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1974 เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อปีค.ศ. 1998 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว
ภูฏานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี ค.ศ. 2005 โดยศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
รัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี ระบบรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 75 คน และวุฒิสภา 25 คน ส่วนพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้มีเพียง 2 พรรคเท่านั้น นอกจากนี้ยังกำหนดวาระการครองราชย์ของพระราชาธิบดีให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 65 พรรษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภูฏาน ต้องการลดบทบาทของพระราชาธิบดี และต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
ประเทศภูฏานจะจัดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งจะเป็นวาระที่ภูฏานมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2005 ซึ่งเป็นวันชาติภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกาศจะทรงสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesal Namgyel Wangchuck) ในปี ค.ศ. 2008
การประกาศสละราชบัลลังก์ของพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวภูฏานเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามชาวภูฏานยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาในกษัตริย์และมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งได้ประกอบพระราชกรณียกิจร่วมกับพระราชาธิบดีมาโดยตลอด อันที่จริงแล้ว ชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังต้องการให้ภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป เนื่องจากเกรงว่าการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในประเทศเหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้าน
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะค่อยเป็นไปของภูฏานดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ผู้นำประเทศเห็นว่า ภูฏานนั้นจำเป็นจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกและปัญหาท้าทายใหม่ๆพร้อมทั้งสามารถตอบสนองกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ภูมิประเทศ
ภูฏานเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก มีพื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใกล้เคียงกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ภูฏานไม่มีทางออกทะเล ภูมิประเทศมี 3 ลักษณะ คือ ตอนเหนือเป็นเทือกเขาสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหิมาลัย พื้นที่ตอนกลางของประเทศมีภูมิประเทศเป็นหุบห้วยและเนินเขา ส่วนทางตอนใต้ พื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา มีแม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่าน
ภูมิอากาศ
เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศเล็ก สภาพอากาศทั่วประเทศจึงไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก โดยมากเป็นแบบกึ่งร้อน มีฝนตกชุก ยกเว้นทางตอนเหนือซึ่งเป็นบริเวณเทือกเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นมาก บนยอดเขามีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปี บริเวณนี้อุณหภูมิเฉลี่ยติดลบถึง 10 องศาเซลเซียส (หน้าร้อน) ตอนกลางวันอุณหภูมิประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ตอนกลางคืน อุณหภูมิเฉลี่ย 10-15 องศาเซลเซียส ภูฏานเป็นประเทศเดียวในเทือกเขาหิมาลัยที่มีฤดูมรสุม (เดือนมิถุนายน-กันยายน) ในระหว่างฤดูมรสุมภูฏานจะมีฝนตกทุกคืน ตอนกลางวันวันไหนถ้าฝนไม่ตกจะมีเมฆมาก และก้อนเมฆลอยต่ำปิดบังยอดเขาและภูมิประเทศรอบๆ
ประเทศภูฏาน มี 4 ฤดู คือ
ฤดูใบไม้ผลิ อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อากาศอบอุ่นและอาจมีฝนประปราย
ฤดูร้อน หรือฤดูมรสุม อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ช่วงนี้จะมีพายุฝน ฝนตกชุกตามเทือกเขาจะเชียวชอุ่ม
ฤดูใบไม้ร่วง อยู่ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ช่วงนี้อากาศจะเย็น ท้องฟ้าแจ่มใส ปลอดโปร่งจากเมฆหมอกและเมฆฝน เหมาะกับการเดินเขา
ฤดูหนาว จะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ อากาศจะเย็นจัด ตอนกลางคืนและรุ่งเช้า มักจะมีหมอกหนามาก บางครั้งในช่วงเดือนมกราคมอาจมีหิมะตกในเมือง
คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ
รูปโดย http://www.tripdeedee.com
แหล่งข้อมูลจาก
- หนังสือคู่มือนักเดินทางฉบับพกพา "ภูฏาน" หนังสือในเครือเที่ยวรอบโลก
|