กลันตัน (Kelantan)
เป็นรัฐที่ตั้งอยู่เหนือสุดทางด้านตะวันออกของมาเลเซีย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส มีเมืองหลวงชื่อโกตาบารู (Kota Bharu) มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำกลันตัน
กลันตันเป็นรัฐที่มีความอนุรักษนิยมมากที่สุดในประเทศ จึงมากไปด้วยพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงมาจากวังของสุลต่าน อีกทั้งเนื่องจากครั้งอดีต เมืองกลันตันเคยเป็นหนึ่งในหัวเมืองมลายูที่ไทยปกครอง วิถีชีวิตและอาหารการกินของผู้คนในรัฐนี้จึงแทบไม่แตกต่างจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คุณจึงสามารถลิ้มลองแกงส้มและแกงไตปลารสชาติจัดจ้านได้จากร้านค้าในตลาดเช้า ซึ่งคุณไม่ควรพลาดไปเดินปาซาร์สิติคาดิจะห์ (Pasar Siti Khadijah) ซึ่งเป็นตลาดเช้าขนาดใหญ่ในเมืองโกตาบารู เพราะนอกจากอาหารทะเลและอาหารสดอันหลากหลายแล้วยังมีเหล่าขนมหน้าตาน่ากินจำนวนมากจนละลานตา
ศูนย์กลางของเมืองโกตาบารูอยู่ที่จัตุรัสเมอร์เดกา ซึ่งเป็นลานกว้างลักษณะคล้ายที่กัวลาลัมเปอร์ อีกทั้งจุดประสงค์ในการสร้างยังเหมือนกัน คือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการได้รับอิสรภาพ โดยมีซุ้มประตูสีน้ำตาลขนาดใหญ่ 2 ซุ้ม ประดับด้วยลวดลายสีทอง บริเวณโดยรอบมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายซึ่งรวบรวมจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆที่กระจายอยู่รอบเมือง
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (Istana Batu) ในเกาะโกตารู
เดิมเป็นวังของสุลต่านแห่งกลันตันจนถึงปี พ.ศ.2504 ได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ.2534 ภายในแบ่งเป็นห้องๆ เช่น ห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องบรรทม โดยจัดแสดงเครื่องใช้ขององค์สุลต่านและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องเงิน หรือเครื่องคริสตัลที่งดงาม อีกทั้งยังมีรูปถ่ายประวัติศาสตร์เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนหัวเมืองกลันตันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2448 โดยสุลต่านมุฮัมมัดที่ 4 เผ้าฯรับเสด็จ
- พิพิธภัณฑ์พระราชวังจาฮาร์ (Istana Jahar)
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 โดยสุลต่านมุฮัมมัดที่ 2 เพื่อเป็นของขวัญแด่องค์รัชทายาท ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสุลต่านมูฮัมมัดนัดที่ 3 โดยเป็นที่ประทับขององค์สุลต่านลำดับต่อๆมาอีกหลายพระองค์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2535 จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์
ตัวพระราชวังนั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง สีดำเข้ม สูง 2 ชั้น ระเบียงและเชิงหลังคาประดับด้วยไม้ฉลุอย่างงดงาม ภายในจัดแสดงพระราชประเพณีต่างๆโดยแบ่งการจัดแสดงเป็นห้องๆตามแต่ละพระราชประเพณี และเมื่อไปชมครบทุกห้องแล้วอย่าเพิ่งรีบกลับ เพราะด้านหลังยังมีอีกอาคารซึ่งจัดแสดงอาวุธโบราณโดยเฉพาะกริช อาวุธอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวมาเลย์ที่งดงามยิ่ง
ใกล้ๆกันยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจ นั่นคือมัสยิดมูฮัมมาดี ซึ่งถือเป็นมัสยิดกลางของรัฐกลันตัน สามารถรองรับชาวมุสลิมที่เข้าร่วมพิธีกรรมได้มากถึง 2,400 อีกทั้งอาคารมัสยิดยังสร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลังอย่างงดงามด้วย
- พิพิธภัณฑ์สงคราม
แต่เดิมอาคารนี้เป็นที่ทำการธนาคารพาณิชย์แห่งอินเดีย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งกลันตันเป็นรัฐหนึ่งที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพิษแห่งสงครามครั้งนี้
- พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐ (Kelantan State Museum)
เดิมเป็นสำนักงานเทศกาลเมืองโกตาบารู ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2533 ได้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติและศิลปวัฒนธรรมของรัฐกลันตัน ทั้งเครื่องดนตรีและการละเล่น แต่สิ่งนี้โดดเด่นที่สุดคือศิลาจารึกซึ่งเป็นแท่นหินแผ่นแบนสีดำสนิท
- เมืองตุมปัต อยู่ทางเหนือสุดติดชายแดนประเทศไทย มีวัดไทยหลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางศรัทธาของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย เช่น วัดโพธิวิหาร เป็นวัดไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกลันตัน โดยภายในวัดมีพระนอนที่มีความยาวถึง 40 เมตร วัดมัชฌิมาราม มีพระพุทธรูปประทับบนดอกบัว ซึ่งมีความสูงถึง 30 เมตร และวัดใหม่สุวรรณคีรี ซึ่งตัวโบสถ์นั้นสร้างอยู่บนเรือพญานาคที่อลังการยิ่งนัก
แผนที่รัฐกลันตัน
ตรังกานู (Trengganu)
มีเมืองกัวลาตรังกานู (Kuala Trengganu) เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรังกานู โดยเขตตัวเมืองมีขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถเดินเที่ยวชมเมืองได้อย่างสบายๆ
- กัวลาตรังกานู
เริ่มเดินเที่ยวแบบสบายๆกันที่วอเตอร์ฟรอนต์ (Water Front) ท่าเรือริมแม่น้ำตรังกานู บริเวณนี้ใกล้กับปากน้ำ แม่น้ำจึงแผ่กว้าง อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำคือ มัสยิดคริสตัล (Crystal Mosque) มัสยิดสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยโครงสร้างเหล็กและประดับด้วยกระจกอย่างงดงาม ประหนึ่งนำแท่งคริสตัลหลากชิ้นมาเรียงซ้อนกัน
เดินไปตามถนนเลียบแม่น้ำตรังกานูจะเข้าเขตไชน่าทาวน์ ตลอดถนนแคบๆสายนี้เรียงรายด้วยบ้านเรือนที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมชิโน โปรตุกีส ช่องประตูและหน้าต่างสลักเสลาลวดลายไว้อย่างงดงาม บางหลังยังเติมแต้มลวดลายดอกไม้ไว้อย่างอ่อนช้อย
นอกจากความงามของเหล่าบ้านเรือนแล้ว ที่นี่ยังมีร้านอาหารจีนอร่อยๆหลายร้าน โดยเฉพาะอาหารจำพวกบะหมี่และซาลาเปา อีกทั้งยังมีร้านบักกุตเต๋หรือซี่โครงหมูตุ๋นยาจีนที่ทั้งหนักเครื่องและน้ำซุปอร่อยยิ่งนัก
พ้นจากไชน่าทาวน์จะเป็นเซ็นทรัลมาร์เก็ต มีทั้งอาหารทะเลและสินค้าพื้นเมืองประเภทผ้าบาติกให้เลือกซื้อหา แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในย่านนี้คือ มัสยิดอบิดิน (Abidin Mosque) สีขาวสะอาดตาจนขาวเมืองเรียกชื่อเล่นว่า มัสยิดสีขาว ซึ่งมีโดมร่วม 10 โดม และมีหอคอยยอดแหลม ซึ่งมีความสูงถึง 7 ชั้นมองเห็นได้แต่ไกล
- เขาพูเทอรี (Bukit Puteri)
บริเวณปากแม่น้ำตรังกานูมีเนินเขาเตี้ยๆนามว่า เขาพูเทอรี ตั้งอยู่ริมทะเลเขาลูกนี้มีความสำคัญ เพราะบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของป้อมปราการที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2374 เพื่อปกป้องตัวเมืองตรังกานูจากการโจมตีทางทะเล จึงมีปืนใหญ่จำนวนมากตั้งอยู่บนนี้ แถมคุณจะได้เห็นตัวเมืองกัวลาตรังกานูและท้องทะเลจีนใต้จนสุดสายตาจากบนเนินนี้ด้วย
ลงจากเขาพูเทอรี คุณจะได้สัมผัสสวนอิสตานามาเซียห์ (Istana Maziah) สวนสไตล์มาเลย์ที่งดงามด้วยไม้ดอกหลากหลายพันธุ์ เหมาะสำหรับหยุดพักจังหวะการเดินทางแล้วนั่งชมความงามของสวนแบบสบายๆ
หากยังไม่เหนื่อยและอยากสัมผัสบรรยากาศทะเลจีนใต้ให้มากกว่านี้ แนะนำให้เดินต่อไปตามถนนสุลต่านไซนัลอบิดิน (Jalan Sultan Zainal Abidin) ซึ่งทอดยาวไปตามแนวชายฝั่ง ซึ่งสุดปลายทางถนนเป็นที่ตั้งของหาดพริมูลา (Primula Beach) ที่ทอดยาว เรียงรายด้วยสนทะเลให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยือน แต่ขอเตือนสักนิดว่า น้ำทะเลที่นี่เหมาะแก่การนั่งทอดสายตามากกว่าลงเล่นเพราะคลื่นแรงเกินไป
ปากทางเข้าหาดพริมูลามี มัสยิดอัลมุกตาฟีบิลลาห์ชาห์ (Masjid Al Muktafi Billah Shah) ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งหากไม่บอกว่าเป็นมัสยิดคุณอาจคิดว่าเป็นท้องฟ้าจำลอง
- เต็งกูเต็งงะห์ซาฮาราห์ (Tengku Tengah Zaharah Mosque)
หรือ มัสยิดลอยน้ำ มัสยิดสีขาวสะอาดตาที่สร้างแบบเรียบง่ายนี้ตั้งอยู่เกาะโอบล้อมด้วยสระน้ำใสสะอาดจนเกิดเงาสะท้อนที่งดงาม อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้ชายทะเลคุณจึงเลือกได้ว่าจะนั่งสงบๆในมัสยิด หรือไปฟังเสียงคลื่นซัดสาดพร้อมรับลมฉ่ำ
ปะหัง (Pahang)
ปะหังเป็นรัฐของมาเลเซียในดินแดนแหลมมลายูที่มีพื้นที่มากที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะทางฟากตะวันตกของรัฐเป็นแนวเขาสูงใหญ่ มีพื้นที่ราบเพียงน้อยนิด ซึ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ราบนั้นคือ เมืองกวนตัน (Kuantan) เมืองหลวงแห่งรัฐซึ่งตั้งประชิดติดทะเลบนดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกวนตัน
- กวนตัน เมืองสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
- มัสยิดสุลต่านอะห์หมัดที่ 1 (Masjid Sultan Ahmad I)
ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางเมืองเป็นมัสยิดแห่งรัฐที่งดงามยิ่ง จนอาจพูดได้ว่าแค่มาเห็นมัสยิดแห่งนี้ก็คุ้มค่าต่อการมาเยือนกวนตันแล้ว
มัสยิดสุลต่านอะห์หมัดที่ 1 เป็นอาคารทรงเหลี่ยมซ้อนกัน 4 ชั้น ส่วนบนสุดคือโดมสีฟ้าขนาดใหญ่ ล้อมด้วยหอคอยยอดแหลมทั้ง 4 ด้านซึ่งมีความสูงถึง 54 เมตร นอกจากความงามภายนอกแล้ว ภายในมัสยิดซึ่งจุคนได้ถึง 10,000 คน ยังมีความงามยิ่งกว่า ตกแต่งด้วยโมเสกและกระจกหลายสี เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา แสงสีของกระจกจะส่องเงาทาบพื้นที่ภายในมัสยิดให้งามยิ่ง
- พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐปะหัง
ตั้งอยู่ด้านข้างมัสยิดสุลต่านอะห์หมัดที่ 1 ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ และวิถีชีวิตของชาวปะหัง
- สวนเกอโลรา (Taman Gelora)
เป็นสวนสาธารณะริมทะเล อยู่ห่างจากปากน้ำกวนตันไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในสวนร่มรื่นด้วยแนวสนทะเลที่โอบล้อมบึงบัวขนาดใหญ่ และหากคุณเดินไปตามชายหาดจนถึงปากน้ำกวนตัน คุณจะพบหมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่ซึ่งมรอาหารทะเลสดๆมากมายให้ได้จับจ่าย
- เขาสูงในปะหัง
ด้วยพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของรัฐปะหังนั้นทอดยาวด้วยเทือกเขาสูง ซึ่งนอกจากเก็นติ้งไฮแลนด์ที่แม้อยู่ในพื้นที่รัฐปะหัง แต่เดินทางจากกัวลาลัมเปอร์สะดวกกว่าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสถานที่บนเขาสูงที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวนั่นคือ คาเมรอนไฮแลนด์ (Cameron Highlands) ซึ่งเป็นดินแดนที่อากาศหนาวเย็นตลอดปี เนื่องจากมีความสูงถึง 2,032 เมตร ดินแดนบนที่สูงแห่งนี้จึงเหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นชาหรือสตอว์เบอร์รี่ เมื่อการท่องเที่ยวเจริญขึ้น สถานที่แห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ทุกวันนี้จึงมีรีสอร์ต จำนวนมากเปิดให้บริการ โดยมีจุดเด่นคือไม้ดอกเมืองหนาวและการเที่ยวชมสวนเกษตรบนที่สูง
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
ยะโฮร์ (Johor)
ชื่อยะโฮร์นี้ หลายคนคงคุ้นหูจากคำว่า ช่องแคบยะโฮร์ อันหมายถึงช่องแคบที่คั่นระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสิงคโปร์ แต่หากจะเรียกชื่อนี้ให้ถูกต้องจะต้องเรียกว่า จอโฮร์
รัฐยะโฮร์นี้เกิดขึ้นเมื่อเมืองมะละกาถูกครอบครองโดยชาวโปรตุเกส สุลต่านมาห์มุดซาห์แห่งมะละกาจึงถอยร่นมายังพื้นที่ตอนใต้ของแหลมมลายูในปี พ.ศ.2054 และก่อตั้งเป็นอาณาจักรยะโฮร์ แต่หลังจากนั้นก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จวบจนกระทั่งอังกฤษมอบเอกราชคืนแก่รัฐต่างๆในแหลมมลายูเมื่อปี พ.ศ.2500 ยะโฮร์จึงเข้าร่วมกับรัฐอื่นๆเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยปัจจุบันมีเมืองยะโฮร์บาห์รู (Johor Bahru) เมืองใต้สุดของแหลมมลายูเป็นเมืองหลวงของรัฐ
- สุดปลายแหลมมลายู
เมืองยะโฮร์บาห์รูซึ่งตั้งอยู่สุดปลายแหลมมลายูนั้น เดิมมีชื่อว่าเมืองบันดาร์ตันจุงพูเทอรี (Bandar Tanjung Puteri) ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงโดยสุลต่านเตเมงกอง อิบราฮิม เมื่อปี พ.ศ.2420 พร้อมสร้างวังสุลต่านอิบราฮิม (Bangunan Sultan Ibrahim) ซึ่งเป็นวังขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายป้อมปราการบนเนินเขา ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชมได้จากภายนอกเท่านั้น
- มัสยิดสุลต่านอบู บาการ์ (Masjid Sultan Abu Bakar)
เป็นมัสยิดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินเขาริมช่องแคบยะโฮร์ จากจุดนี้สามารถมองเห็นเกาะสิงคโปร์ซึ่งอยู่ตรงข้ามได้อย่างชัดเจน อาคารมัสยิดเป็นสีขาวสูง 2 ชั้น มีปีกอาคารแยก 3 ปีก แต่ละปีกสร้างเป็นหอคอยทรงแปดเหลี่ยมสูงโดดเด่น และใกล้ๆกันยังมีพิพิธภัณฑ์รอยัลอบูบาการ์ และสวนสัตว์ให้เข้าชม
- ดาตารันบานดารายา (Dataran Bandaraya หรือ City Square)
สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการสถาปนาเมืองยะโฮร์บาห์รูเป็นเมืองหลวง ที่นี่เป็นศูนย์กลางการพบปะของชาวเมืองและลานแสดงกลางแจ้ง อีกทั้งใกล้ๆกันคือ หาดลิโด้ (Lido Beach) ชายหาดที่งดงามทางใต้สุดของแหลมมลายู หากมีเวลาและอุปกรณ์กันแดดหร้อมสรรพ ก็ไทฃม่ควรพลาดชม เนื่องจากยะโฮร์บาห์รูนั้นอยู่ใต้สุดของแหลมมลายูโดยมีช่องแคบยะโฮร์คั่นระหว่างแหลมกับเกาะสิงคโปร์ฉะนั้น หากมาถึงยะโฮร์แล้วจึงสะดวกมากหากต้องการไปเยือนสิงคโปร์ เพราะจากที่นี่มีทั้งรถประจำทางและรถไฟพาคุณไปเยือนเกาะสวรรค์แห่งนี้โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
ข้อมูล : Go มาเลเซีย : แพรวสำนักพิมพ์ท่องโลก : วีรศักดิ์ เทียนธนะวัฒน์
|