ข้อมูลสตูลและรูปสวยๆจากสตูล - เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะตะรุเตา |
ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง อำเภอควนโดน จ.สตูล |
สถานที่น่าสนใจ อำเภอเมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสถ์กูเด็น) ตั้งอยู่ถนนสตูลธานีซอย ๕ ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๙ โดย พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (ชื่อเดิม กูเด็น บินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสถ์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่ไม่ได้ประทับแรม เคยใช้เป็นบ้านพักและศาลาว่าการเมืองสตูล จนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปีพ.ศ. ๒๔๘๔ อาคารหลังนี้ใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสตูล และเป็นสถานที่สำคัญทางราชการ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงคฤหาสถ์กูเด็น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น เป็นตึกแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็ก ๆ เป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมด้านบนตกแต่งรูปดาวตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม สวนสาธารณะเขาโต๊ะพญาวัง อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสตูล ถนนคูหาประเวศน์ เป็นสวนสาธารณะที่มีบรรยากาศแตกต่างจากสวนสาธารณะทั่วไปตรงที่ตั้งอยู่ติดภูเขาหินปูน จึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในบรรยากาศถ้ำมากกว่าสวนสาธารณะโล่ง นอกจากนี้มีลำคลองไหลผ่านข้างสวน ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์จึงเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีร้านอาหารอยู่บริเวณใกล้ๆ วัดชนาธิปเฉลิม ตั้งอยู่ที่ถนนศุลกานุกูล ตำบลพิมาน เดิมชื่อ วัดมำบัง เป็นวัดแห่งแรกของเมืองสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ชาวเมืองสตูลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม ๑๐๐ กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๗๓ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป คือ เป็นอาคารทรง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูลร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนสตูลวิทยา ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอบถามรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๗๔๗๑ ๑๙๙๖ แหลมตันหยงโปและหาดทรายยาว อยู่ทางปากอ่าวสตูล ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๑ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา ๒๒ กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ ๑,๔๙๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน ๕๑ เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ ๗ เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น ๒ หมู่เกาะใหญ่ คือหมู่.เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน เมษายน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สถานที่น่าสนใจบนเกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกา มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกา ยังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบู ได้อีกด้วย อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา อ่าวเมาะและ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ๔ กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม เงียบสงบ มีบังกะโลเหมาะสำหรับพักผ่อน อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ๘ กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีจุดกางเต็นท์ บริการอาหารและเครื่องดื่ม มีน้ำตกขนาดเล็กคือ น้ำตกลูดู และน้ำตกโละโป๊ะ เหมาะสำหรับเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นจุดที่สามารถชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.๑ (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษกักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบันทางอุทยานฯได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ หลุมศพ ๗๐๐ ศพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี ๘ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ ตต.๒ (ตะโละอุดัง) อดีตเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งจากบริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ ๓๐๐ เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ ๒๐ นาทีและใช้เวลาชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย จุดชมวิว ผาโต๊ะบู เป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๖๐ เมตร เส้นทางเดินขึ้นไปตามแนวป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ ๒๐ นาที อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด อ่าวพันเตมะละกา จะเห็นเกาะบุโหลน เกาะกลาง เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะราวี หมู่เกาะเภตรา และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง กิจกรรมบนเกาะตะรุเตา
จาก อำเภอเมือง จังหวัดสตูล-ท่าเรือปากบารา ตารางเดินเรือไปยังหมู่เกาะตะรุเตาและหลีเป๊ะ ของบริษัทต่างๆ (ตารางและเวลาเดินเรืออาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาสอบถามรายละเอียดก่อนเดินทาง)
เกาะตะรุเตา ค่าโดยสาร ๒๕๐ บาท (เที่ยวเดียว), ๔๐๐ บาท (ไป-กลับ) บริษัท หลีเป๊ะ เฟอรี่ แอนด์ สปีดโบ๊ท จำกัด
เกาะตะรุเตา ค่าโดยสาร ๓๕๐ บาท (เที่ยวเดียว), ๖๐๐ บาท (ไป-กลับ) บริษัท ไทเกอร์ ไลน์ ทราเวล จำกัด (เรือเฟอรี่ด่วนปรับอากาศ)
เกาะตะรุเตา ค่าโดยสาร ๓๕๐ บาท (เที่ยวเดียว), ๖๐๐ บาท (ไป-กลับ) ระยะทางจากท่าเรือ-เกาะต่างๆ - อ่าวพันเตมะละกา (เกาะตะรุเตา) ๒๒ กิโลเมตร เกาะตะรุเตา - หมู่เกาะอาดัง-ราวี ๔๐ กิโลเมตร เกาะอาดัง - เกาะหลีเป๊ะ ๒ กิโลเมตร เกาะไข่อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ระหว่างเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ ๔๐ นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทะเลรอบๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะ เรือโดยสารจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะหลีเป๊ะ มักจะวิ่งผ่านเกาะไข่ซึ่งอยู่ระหว่างทาง หมู่เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๔๐ กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองสตูล ๖๐ กิโลเมตร หมู่เกาะอาดัง-ราวี นอกจากจะประกอบด้วยเกาะอาดัง และเกาะราวี ซึ่งเป็นชื่อของหมู่เกาะแล้ว ยังมีเกาะบริวารน้อยใหญ่เช่นเกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะหินซ้อน เกาะจาบัง เป็นต้น เกาะอาดัง คำว่า อาดัง มาจากคำเดิมในภาษามลายูว่า อุดัง มีความหมายว่า กุ้ง เพราะบริเวณนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งทะเล เกาะอาดังเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.๕ (แหลมสน-เกาะอาดัง) เกาะอาดัง มีเนื้อที่เกาะประมาณ ๓๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายละเอียดสวยงาม รอบเกาะมีเกาะเล็กๆ หลายเกาะ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะดง เกาะหินงาม และเกาะยาง เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง มีป่าปกคลุมดูเขียวครึ้ม มีน้ำตกที่มีน้ำตลอดปี คือน้ำตกโจรสลัด เกาะราวี อยู่ห่างจากเกาะอาดังเพียงหนึ่งกิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๙ ตารางกิโลเมตร เกาะราวีมีหาดทรายสวยงาม น้ำทะเลใส เงียบสงบ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯที่ ต.ต.๖ (หาดทรายขาว) บนเกาะไม่มีที่พัก นักท่องเที่ยวนิยมแวะที่เกาะราวีเพื่อเล่นน้ำและดำน้ำดูปะการัง เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง ๒ กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ประมาณกลางเดือน ๖ และเดือน ๑๑ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ชาวบ้านที่มีเชื้อสายชาวเลจะมารวมกันที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อจะจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือ ด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ เวิ้งอ่าวสวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง และอ่าวที่สวยงามคือ อ่าวพัทยา ซึ่งมีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด และหาดชาวเล ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที บนหาดมีที่พักเอกชนคอยบริการนักท่องเที่ยว เกาะหินงาม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง เป็นเกาะขนาดเล็ก ชายหาดมีก้อนหินสีดำรูปร่างต่างๆ มีลักษณะกลมเกลี้ยง ลวดลายสวยงาม เมื่อถูกน้ำจะเป็นมัน แวววาว งดงาม บนเกาะมีป้ายเตือนเกี่ยวกับคำสาปเจ้าพ่อตะรุเตา ผู้ใดบังอาจเก็บหินงามจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะถึงซึ่งความหายนะนานานับประการ เกาะยาง หรือ เกาะกาต๊ะ เป็นเกาะเล็กๆอยู่ไม่ไกลจากเกาะอาดัง น้ำทะเลใสและมีแหล่งปะการังแข็งที่สวยงาม เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังผักกาด ปะการังสมอง บนเกาะมีชายหาดที่มีทรายละเอียด หมู่เกาะดง เกาะดงเป็นเกาะที่อยู่นอกสุดของหมู่เกาะอาดัง ราวี ห่างจากเกาะอาดังราว ๑ ชั่วโมง มีแหล่งปะการังน้ำตื้น และปะการังน้ำลึก เกาะดงยังมีเกาะบริวารอยู่โดยรอบราว ๔-๕ เกาะ โดยมีเกาะหินซ้อนที่มีลักษณะโดดเด่นเหมือนก้อนหินที่วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ การเดินทางสู่หมู่เกาะอาดัง ราวี เรือจะออกจากท่าเรือปากบาราและแวะที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาก่อน หลังจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง (ตารางเรือดูได้จากการเดินทางไปหมู่เกาะเกาะตะรุเตา) เมื่อถึงบริเวณใกล้เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง จะมีเรือหางยาวเล็กมารอรับนักท่องเที่ยวที่เรือเพื่อต่อไปยังเกาะหลีเป๊ะและหมู่เกาะอาดัง ราวี ค่าโดยสาร ๔๐ บาท สำหรับผู้สนใจท่องเที่ยวไปตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะอาดังราวีนั้น สามารถเช่าเรือหางยาวได้ที่เกาะหลีเป๊ะ อัตราค่าเช่าวันละ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ บาทต่อวัน (๘-๑๒ คน) ชมรมเรือหางยาวนำเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ โทร. ๐๘ ๑๙๕๙ ๖๕๔๒ การท่องเที่ยวเกาะลังกาวี สำำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย สามารถลงเรือได้ที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล ๙ กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเที่ยวแบบไปเช้า-กลับเย็น สอบถามรายละเอียดที่ บริษัทนำเที่ยวต่างๆในจังหวัดสตูล (ท้ายเอกสาร) อำเภอควนโดน ถ้ำลอดปูยู (ปูยู แปลว่า ปลาหมอ) อยู่ที่เขากาหยัง ตำบลปูยู ห่างจากตัวจังหวัด ๑๕ กิโลเมตร เป็นถ้ำลอดลักษณะคล้ายกับถ้ำลอดที่อ่าวพังงา มีคลองท่าจีนไหลผ่านถ้ำ สองฝั่งของคลองเป็นป่าโกงกางตลอดแนว ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยบ้าง ใกล้ถ้ำลอดจะมีถ้ำอีกแห่งหนึ่งมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามและมีค้างคาวอาศัยอยู่ ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ ๒ ชั่วโมง การเดินทาง สามารถเช่าเรือหางยาวจากท่าเรือตำมะลังและท่าเทียบเรือประมงสตูล ขององค์การสะพานปลา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง ๙ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๓ กิโลเมตรที่ ๕-๖ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ที่บ้านวังประจัน ตำบลวังประจัน อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสตูล ๔๐ กิโลเมตร อุทยานฯ มีเนื้อที่ ๑๒๒,๕๐๐ ไร่ โดยรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุปังปุโต๊ะและหัวกระหมิงและพื้นที่ป่าควนบ่อน้ำปูยู ในท้องที่ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๓ คำว่า ทะเลบัน มาจากคำว่า เลิด เรอบัน เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบหรือทะเลอันเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เกิดจากการยุบตัวของพื้นดินระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ ๖๓,๓๕๐ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น เลียงผา ช้าง สมเสร็จ หมูป่า ลิง ชะนี และ เขียดว๊าก (หมาน้ำ) ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งบึงทะเลบัน รูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึงโดยเฉพาะในฤดูฝน สำหรับผู้ชื่นชมการดูนกก็ไม่ควรพลาด เพราะมีนกหลายชนิดให้ดู เช่น นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกปรอดคอลาย นกกางเขนน้ำหลังแดง นกหัวขวาน เป็นต้น สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่กลางหุบเขา ขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๕ ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงจะมี ต้นบากง ขึ้นอยู่หนาแน่น ทางอุทยานฯ ได้สร้างศาลาท่าน้ำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนและมีทางเดินไม้รอบบึง น้ำตกยาโรย เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำในป่าหัวกะหมิง มี ๙ ชั้น แต่ละชั้นเป็นแอ่งสามารถเล่นน้ำได้ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๔ (สายควนสะตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ ๑๔๑๕ ประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก ๗๐๐ เมตร น้ำตกโตนปลิว มีต้นน้ำมาจากภูเขาจีน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีหลายชั้น ไหลจากหน้าผาสูง สวยงามมาก การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข ๔๑๘๔ (สายควนสะตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ ๙๑๐ หรือห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะมีทางลูกรังแยกไปอีก ๓ กิโลเมตร อุทยานฯ มีบ้านพักและร้านสวัสดิการ(เปิดในเวลาราชการ)ไว้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนเต้นท์ต้องนำมาเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ๙๑๑๖๐ โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๒๗๓๗ โทรสาร. ๐ ๗๔๗๒ ๒๗๓๖ การเดินทาง ไปอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร ถึงสามแยกควนโดนซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าอุทยานเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๔ ไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารประจำทาง (หาดใหญ่-สตูล) ขึ้นที่หน้าหอนาฬิกา ลงที่สามแยกควนสะตอ ต่อรถสองแถวเล็ก สายสตูล-วังประจัน รถออกชั่วโมงละ ๑ คัน ค่าโดยสารคนละ ๒๐ บาท เขตชายแดนไทย-มาเลเซีย (ด่านวังประจัน) อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง ๒ กิโลเมตร บริเวณเขตแดนมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ตั้งอยู่ หากเดินทางต่อไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ก็จะถึงปาดังเบซาร์ ซึ่งมีสินค้าราคาถูกจำหน่าย หรือหากต้องการไปยังเมืองกางะ เมืองหลวงของรัฐเปอร์ลิส ก็สามารถไปได้เพียงเดินทางไปอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น ด่านนี้เปิดตั้งแต่ ๐๗.๐๐๑๘.๐๐ น. และจะมีตลาดนัดทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ด่านศุลกากรโทร.๐ ๗๔๗๒ ๒๗๓๐ ด่านตรวจคนเข้าเมือง โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๒๗๓๑ การเดินทาง จากตัวเมืองสตูลใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตร มีทางแยกขวา ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๔ กม.ที่ ๖๑-๖๒ ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร หรือ นั่งรถสองแถวสตูล-วังประจัน รถจอดที่หน้าโรงแรมแหลมทอง หรือ ขึ้นรถสตูล-เขตแดน ที่บริเวณสามแยกควนสะตอ โดยจะมีรถออกทุกชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ ๓๐ บาท
แหล่งข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
|
|
||||||
|