|
|
|
|
ภูเขาเมื่อเข้าเขตทิเบต |
แนวเขาที่ทิเบต |
ทิเบต |
ทิเบต |
|
|
|
|
พระราชวังโปตาลา |
พระราชวังโปตาลา |
พระราชวังโปตาลา |
พระราชวังโปตาลา |
|
|
|
|
วัดโจคัง |
ลานตลาดแปดเหลี่ยม |
ทะเลสาบยัมดร็อก |
ทะเลสาบนัมโช |
ประวัติศาสตร์ทิเบต
ทิเบตเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานประเทศหนึ่งในโลก มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นมาของชาวทิเบตน้อยมาก เดิมชาวทิเบตมีชื่อเรียกกันว่า ทาโบ(Tabo) เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเป็นนักรบที่เก่งกาจ ชาวจีนเรียกชาวทิเบตว่า เจี๊ยง หรือ ซีเจี๊ยง ในยุคแรกประเทศทิเบตมีการปกครองโดยกษัตริย์ ราชวงศ์ยาร์ลุง (Yarlung) มีอำนาจปกครองอยู่ในทิเบตตอนกลาง จรดตอนเหนือของอินเดียและปากีสถาน การปกครองในประเทศทิเบตแบ่งแยกการปกครองออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักร โดยมีกษัตริย์เป็นผู้นำและเป็นประมุขของประเทศ ในขณะที่มีพระสงฆ์หรือลามะเป็นผู้นำฝ่ายศาสนา ทิเบตเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จึงทำให้หลายประเทศหมายปอง และเกิดการรุกราน ฆ่าฟันและนองเลือด กันหลายครั้งหลายคราว เมื่อถึงปี ค.ศ.842 อิทธิพลและอำนาจของทิเบตเริ่มเสื่อมถอยลง ในขณะที่พุทธศาสนาเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวทิเบตมากขึ้น
ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้าไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในทิเบตนั้น จีนกับมองโกลยกกำลังมารุกรานและผลัดเปลี่ยนกันครอบครองทิเบตหลายครั้ง แม้แต่รัสเซียและอังกฤษเองก็เคยพยายามที่จะยึดครองทิเบตด้วย ในปี ค.ศ.907 จีนได้ยึดเอาดินแดนที่เคยเสียให้ทิเบตกลับคืนมาจนหมด ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทิเบตยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดมา จนกระทั่งจักรพรรดิเจงกิสข่านแห่งมองโกเลียยกทัพมารุกรานจีนและทิเบตเมื่อชานมองโกเลียได้เห็นวิถีชีวิตของชาวทิเบตที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด
ก็เกิดความศรัทธา ชาวมองโกลจึงรับศาสนาพุทธตามแนวทางของทิเบตเป็นศาสนาประจำอาณาจักรมองโกลแห่งเอเชียตะวันออก อีก100 ปีต่อมาเมื่ออาณาจักรมองโกลเสื่อมอิทธิพลและล่มสลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศทั้งสองก็ยุติลง
กษัตริย์องค์แรกของทิเบตคือ พระเจ้านัมรีลอนซาน (Nam Ri Slon Shan) ในช่วงแรกของประวัติศาสตร์ทิเบต ดาไลลามะ อันเป็นตำแหน่งผู้นำประเทศทิเบตในปัจจุบันไม่มีบทบาททางการเมืองเท่าไหร่นัก เพราะว่ามีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกิจการบ้านเมือง (อาณาจักร) กับฝ่ายศาสนจักรที่ชัดเจน แต่เนื่องจากว่าประเทศเพื่อนบ้านของทิเบตต้องการที่ลดอำนาจทางทหารของทิเบตลง จึงได้มีการพยายามส่งเสริมให้ฝ่ายลามะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น
ในศตวรรษที่ 15 ฝ่ายสงฆ์มีอำนาจมากในทิเบต ลามะเริ่มมีอิทธิพลในการปกครองเหนือกษัตริย์ เพราะชาวทิเบตเชื่อกันว่า ลามะคือผู้มีบุญญาธิการกลับชาติมาเกิด ต่อมาลามะองค์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์ ได้รับการยกย่องสถาปนาให้เป็นดาไลลามะ (ดาไล แปลว่า มหาสมุทรเมื่อมาประกอบกับคำว่า ลามะ แปลได้ว่า นักปราชญ์ผู้มีความรู้กว้างขวางดั่งมหาสมุทร) และมีอำนาจปกครองมากยิ่งขึ้น
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ดาไล มีการนำมาใช้ครั้งแรกในสมัยที่อัลตันข่าน (Altan Khan) เป็นผู้นำมองโกลในปี ค.ศ.1576 อัลตันข่านแห่งมองโกลได้ถวายสมณศักดิ์สูงสุดให้กับลามะผู้นำฝายศาสนาของทิเบตเป็นท่านดาไล เพื่อเป็นการขอบคุณที่ผู้นำสงฆ์ของชาวทิเบตได้นำเอาพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในมองโกเลีย ชาวทิเบตเรียกผู้นำสาสนาว่า เกียตโซ (Gyatso) ซึ่งมีความหมายเท่ากับ Dalai มีผู้รู้ที่เป็นนักภาษาศาสตร์บางท่านอธิบายว่า คำว่า Dalai เป็นภาษาของมองโกเลีย เพราะมีการนำมาใช้ครั้งแรกที่มองโกเลียนั้นเอง
ในปี ค.ศ.1642 กุศรีข่าน (Gu Sri Khan) เป็นผู้นำมองโกเลีย ได้ยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์ทิเบต แล้วสถาปนาดาไลลามะองค์ที่ 4 ผู้นำฝ่ายศาสนาในขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายอาณาจักรด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาดาไลลามะผู้นำศาสนจักรของทิเบตจึงมีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นทั้งผู้นำอาณาจักรและเป็นทั้งผู้นำทางศาสนจักร ซึ่งนับว่าเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากสำหรับชาวทิเบตเนื่องจากว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำประชาชนในการทำมาหากิน หรือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้บ้านเมือง และเมื่อเกิดศึกสงคราม พระสงฆ์จะนำพาประชาชนไปรบได้อย่างไร
การเมืองในทิเบตถูกเพื่อนบ้านแทรกแซงตลอดเวลาเพราะว่าประเทศใกล้ชิดทิเบตต้องการที่จะเห็นฝ่ายพระสงฆ์เป็นใหญ่ในทิเบต เพราะถ้าหากฝ่ายสงฆ์เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็หมายความว่าทิเบตจะไม่มีกองทัพ และไม่มีการสะสมกองกำลังทหารในทิเบตอีกต่อไป ทำให้ทิเบตอ่อนแอจนง่ายต่อการยึดครอง
ปีค.ศ.1611 ฝ่ายกษัตริย์ที่สูญเสียอำนาจแกครองประเทศได้ยกกำลังเข้าโจมตีสำนักสงฆ์ 2 แห่งคือ ดรีปุง และเซรา (Drepung and Sera Monasteries) ในเมืองลาซา ดาไลลามะองค์ที่ 4 ต้องหนีออกจากทิเบต และไปสิ้นพระชนมืเพราะถูกวางยาพิษอยู่ในต่างแดน มองโกลยกทัพมาช่วยจัดการให้ทิเบตสงบสุขอีกครั้ง ด้วยการจับกษัตริย์ทิเบตปลงพระชนม์ และดาไลลามะองค์ที่ 5 ได้รับการสถาปนาขึ้นมีอำนาจปกครองทิเบต โดยมีมองโกลเป็นผู้ให้การสนัยสนุนอยู่เบื้องหลัง
ดาไลลามะองค์ที่ 5 เป็นผู้นำความรุ่งเรืองมาสู่ทิเบตและศาสนจักร ท่านปกครองทิเบตจนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.1682 เมื่อดาไลลามะองค์ที่ 6 ได้รับการสถาปนาให้เป็นผู้ปกครองคนใหม่ของทิเบต ดาไลลามะเอาใจออกห่างจากมองโกล หันไปคบค้ากับจีนในสมัยราชวงศ์ชิงของแมนจู จนจีนเริ่มสร้างอิทธิพลในทิเบต และลดความสำคัญของมองโกลจนหมดอำนาจในทิเบตอีกต่อไป ในที่สุดจีนก็จับดาไลลามะองค์ที่ 6 ปลดออกจากตำแหน่งประมุขของประเทศ การหาดาไลลามะองค์ที่ 7 เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะจีนยื่นมือเข้ามาเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำทิเบตคนใหม่เสียเอง โดยจีนอ้างว่าจีนเป็นผู้เข้ามาปลดปล่อยทิเบตให้เป็นอิสระจากมองโกล จักรพรรดิคังซี (Kang Xi) ของจีนได้ประกาศว่าจีนเป็นผู้คุ้มครองทิเบต จึงนับเป็นก้าวแรกของการเปิดทางให้จีนคอมมิวนิสต์ใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานครอบครองทิเบตในเวลาอีก 250ปีต่อมา
พวกแมนจูมีอำนาจในทิเบต ถึงขนาดตั้งกษัตริย์ขึ้นปกครองทิเบตแทนลามะ แต่เมื่อถึงปีค.ศ.1757 การปกครองทิเบตก็กลับมาอยู่ในมือดาไลลามะองค์ที่ 7 ซึ่งปกครองทิเบตให้มีความสงบสุขจนหมดสมัยของท่าน จีนส่งกอนทหารเข้าในทิเบตอีกครั้งเพื่อเป็นก้างขวางคอป้องกันไม่ให้ทหารกูรข่าขากเนปาลรุกเข้ามาถึงทิเบต จีนเข้าแทรกแซงการเมืองในทิเบตมากขึ้น โดยกีดกันและไม่ยอมให้ทิเบตติดต่อคบค้ากับชาวต่างชาติ เพราะจีนเกรงว่าอังกฤษซึ่งมีกองทหารกูรข่าอยู่ในมือจะเข้ามายึดครองทิเบต ทำให้อังกฤษหมดหนทางที่จะเอื้อมมือมาถึงทิเบตได้ ประกอบกับรัสเซียเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้นทุกที ทำให้อังกฤษต้องหันไปสนใจและขจัดอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคนี้เสียก่อน ในปีค.ศ.1903 ดาไลลามะของทิเบตแอบหลบไปมองโกเลียกับที่ปรึกษาชาวรัสเซีย เพื่อแสวงหาความคุ้มครองจากมองโกล ซึ่งให้การรับรองว่าทิเบตมีสิทธิและอิสระในการทำสัญญากับประเทศอื่นๆได้ จีนคัดค้านข้อตกลงระหว่างมองโกเลียกับทิเบตทันที โดยมีอังกฤษก็ได้ให้การสนับสนุนจีนด้วยการลงนามในหนังสือรับรองว่าจีนเป็นผู้ปกครองทิเบต อีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อราชวงศ์ชิงใกล้จะเสื่อมอำนาจลง จีนก็ส่งกองกำลังเข้าย่ำยีทิเบตอีกครั้งทำให้ดาไลลามะต้องหลบหนีไปพึ่งอังกฤษที่กำลังมีอิทธิพลอยู่ในอินเดีย ระหว่างลี้ภัยอยู่ที่นั้นดาไลลามะได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับอังกฤษ เป็นเหตุให้จีนไม่พอใจมาก จึงเพิ่มความกดดันและกดขี่ชาวทิเบตมากขึ้น
ต่อมาเกิดการปฏิวัติในจีน ทำให้จีนต้องถอนกำลังออกจากทิเบต ปีค.ศ.1913 ดาไลลามะองค์ที่ 13 ได้เกิดนทางกลับทิเบตระหว่างที่จีนกำลังยุ่งกับการทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันภายในประเทศ ทิเบตได้เป็นอิสระอีกครั้งและมีความสงบสุขภายใต้การปกครองของดาไลลามะองค์ที่ 13 เป็นเวลานานถึง 30 ปี ถึงแม้ว่าอังกฤษจะพยายามเข้ามาแผ่อิทธิพลและวัฒนธรรมของยุโรปในทิเบตแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะถูกชาวทิเบตต่อต้านไม่ยอมรับวัฒนธรรมจากโลกภายนอก
เมื่อดาไลลามะองค์ที่ 13 สิ้น มีการแต่งตั้งองค์ดาไลลามะองค์ที่ 14 ขึ้นเป็นประมุขปกครองทิเบต ดาไลลามะองค์ที่ 14 ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ ค.ศ.1940 ขณะนั้นดาไลลามะองค์ใหม่ยังเป็นเด็กมากพระชนมายุเพียง 4 พรรษาเท่านั้น อีก 10 ปีต่อมาจีนคอมมิวนิสต์ได้ยกกำลังทหารบุกเข้ายึดครองทิเบต เวลานั้นดาไลลามะองค์ที่ 14 อายุได้ 15 พรรษา อังกฤษกับอินเดียวซึ่งเคยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้แต่นั่งดูจีนรุกรานทิเบตทั้งยังส่งสัญญาณไปยังองค์การสหประชาชาติว่าไม่ให้เอาเรื่องจีนรุกรานทิเบตเข้าสู่ที่ประชุม เพราะทั้งสองประเทศเกรงว่าจะขัดใจกับจีน
เพื่อไม่ให้ชาวโลกประณามว่าจีนเป็นผู้รุกรานทิเบต จีนจึงได้ออกแถลงการณ์เรื่องทิเบต โดยระบุไว้ในเอกสารที่เรียกว่า Agreement on Measures for the Peaceful Liberation of Tibet มีใจความสำคัญว่าจีนเพียงแต่เข้าไปดุแลจัดการให้ทิเบตเกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเท่านั้น โดยจีนสัญญาว่าจะยอมให้ทิเบตเป็นประเทศอิสระที่มีการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือมีสิทธิในการปกครองตนเองด้วย และมีจีนปกครองดินแดนทิเบตบางส่วนด้วย ในปีค.ศ.1959 มีข่าวลือว่าจีนวางแผนจะลักพาตัวดาไลลามะทำให้เกิดการจลาจลขึ้นในทิเบต ดาไลลามะองค์ที่ 14 ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในทิเบตเอาไว้ได้ประกอบกับจีนเข้ามาแทรกแซง สถานการณ์จึงส่อเค้าว่าดาไลลามะกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศไปอาศัยอยู่ในอินเดีย
หลังจากนั้นจีนได้จัดตั้งรัฐบาลในทิเบต และฉวยโอกาสจัดการบริหารปกครองทิเบตแทนดาไลลามะที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของทิเบตแตกต่างจากจีนมาก ทำให้แผนการปฏิรูปการเกษตรที่จีนนำมาใช้ในทิเบตผิดพลาดล้มเหลวเป็นผลให้ชาวทิเบตต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก ในปีค.ศ.1965 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ทำให้ในปีต่อมากองทหารเรดการ์ดที่มีอิทธิพลมากในจีนบุกเข้ามาถึงทิเบตและได้ทำลายสถานที่สำคัญทางศาสนา รวมทั้งกวาดล้างจับกุมพระภิกษุกับภิกษุณีและบุคคลสำคัญของทิเบตไปกักขังทำทารุณกรรม กับทั้งพยายามทำลายรากฐานของทิเบตแบบขุดรากถอนโคน ชาวทิเบตจึงรวมกำลังกันต่อสู้แต่ก็สู้ไม่ได้ถูกกองกำลังเรดการ์ดของจีนปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด นับเป็นเคราะห์กรรมอย่างใหญ่หลวงของชาวทิเบตที่ถูกจีนเข่นฆ่าและกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม ในขณะที่ชาวโลกต่างปิดหูปิดตากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทิเบตเพราะเกรงกลัวอิทธิพลของจีน
เมื่อเหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรมจีนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผู้นำและนโยบายการบริหารประเทศก็เปลี่ยนไปด้วย การปฏิบัติของจีนต่อทิเบตก็อ่อนลงรัฐบาลของจีนประกาศยอมรับดาไลลามะว่าเป็นผู้นำของทิเบต และเชิญดาไลลามะที่อพยพไปอยู่ต่างต่างประเทศกลับสู่ทิเบต แต่ดาไลลามะองค์ปัจจุบันไม่ยอมกลับทิเบตในทันที ท่านส่งผู้แทนไปดูสถานการณ์ในทิเบต 3 คณะซึ่งได้กลับมารายงานสิ่งที่ได้พบเห็นในทิเบตพร้อมรูปถ่ายศพชาวทิเบตจำนวน 1,200,000 คนที่ถูกฆ่าตายระหว่างที่ทหารจีนอยู่ในทิเบต วัดวาอารามและสำนักภิกษุณีกว่า 6,000 แห่ง ที่ทหารจีนทำลายเสียหายยับเยิน นอกจากนั้นยังมีชาวทิเบตประมาณ 100,000 คนถูกกวาดต้อนเข้าไปทำงานในค่ายกักกัน ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ถูกทำลายเกือบหมด ยิ่งกว่านั้นจีนได้ส่งชาวฮั่นเข้าไปอยู่ในทิเบตจำนวนมากเพื่อกลืนชาติ จนปัจจุบันทิเบตมีจำนวนชาวจีนที่อพยพเข้าไปอยู่ในทิเบตมากกว่าชาวทิเบตเจ้าของประเทศเสียอีก
เมื่อดาไลลามะปฏิเสธที่จะกลับทิเบต จีนจึงได้สัญญาว่าจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และดูแลคุณภาพชีวิตของชาวทิเบตให้ดีขึ้น กับทั้งจะให้อิสรภาพและปรับปรุงการเก็บภาษีให้น้อยลงด้วยแต่ดาไลลามะก็ยังคงไม่ยอมกลับไป
ในปีค.ศ.1980 ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนที่ผ่อนคลายความเข้มงวดลง แม้ว่าชาวทิเบตจะมีอิสระในการนับถือศาสนามากขึ้นกว่าเดิมแต่ข้อจำกัดที่เข้มงวดของจีนยังมีอยู่ พระภิกษุและภิกษุณียังคงตออยู่ภายใต้การสอดส่องจากทางการจีนอย่างใกล้ชิด ยังมีการจับกุมพระสงฆ์และชาวทิเบตที่ทางการจีนไม่ไว้ใจไปขังลืมในคุก จีนได้เลิกล้มความคิดที่จะให้ดาไลลามะองค์ปัจจุบันกลับมาทิเบตอีกต่อไป โดยดาไลลามะได้ตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นอยู่ที่อินเดียละปกครองทิเบตจากนอกประเทศ ในขณะที่จีนตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นบริหารกิจการภายในทิเบตที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา และยังหันไปสนับสนุนให้ชาวฮั่นอพยพเข้ามาทำมาหากินในทิเบตมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันผู้นำชาวทิเบตคือ องค์ดาไลลามะองค์ที่ 14 ท่านมีชื่อเดิมว่า ลาโม ดอนดุพ (Lhamo Dhondup) เมื่อกองกำลังจีนบุกยึดทิเบตนั้นท่านดาไลลามะได้หลบหนีลี้ภัยข้ามภูเขาหิมาลัยเข้าไปในอินเดีย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14 วัน รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ดาไลลามะและชาวทิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่ในอินเดียได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติมีการพูดถึงกรณีผู้ลี้ภัยชาวทิเบตน้อยครั้งมากและอินเดียก็ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาผู้อพยพชาวทิเบตเลย
เหตุผลของการที่จีนต้องการเข้ายึดครองทิเบตนั้น เป็นเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์มากกว่าด้านการเมืองเพราะจีนจำเป็นที่จะต้องได้ที่มั่นในทิเบตเอาไว้เพื่อความมั่นคงของจีน ถ้าหากจีนไม่เข้าไปในทิเบตก่อนทิเบตอาจจะขอร้องให้ประเทศอื่นส่งกองกำลังเข้าไปช่วยคุ้มครองก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจกระทบต่อความมั่นคงในประเทศจีนได้
เมื่อทิเบตเปิดประเทศต้อนรับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เข้าไปรับรู้และเห็นความเป็นไปของชาวทิเบตต่างเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่าจีนได้ทำอะไรกับชาวทิเบตบ้าง ในขณะเดียวกันดาไลลามะองค์ที่ 14 ผู้นำผลัดถิ่นของทิเบตก็ออกเดินสายแสดงปาฐกถา เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อหาการสนับสนุนจากภายนอกประเทศ ดาไลลามะนำทิเบตให้กลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกท่านพยายามทำทุกวิถีทางที่จะปลดปล่อยทิเบตจากจีนให้ได้ จุดประสงค์ของดาไลลามะคือต้องการให้นานาชาติกดดันจีนให้หันมาเจรจาเรื่องสันติภาพในทิเบต แต่จีนไม่มอมเจรจาด้วยทั้งยังไม่ยอมรับแผนสันติภาพของดาไลลามะ เป็นการปิดทางที่ดาไลลามะจะใช้เป็นทางเรียกร้องอิสรภาพให้ทิเบต ด้วยความพยายามในการต่อสู้เรียกร้องให้จีนคืนอิสรภาพให้ทิเบตด้วยสันติวิธีทำให้ท่านดาไลลามะองค์ที่ 14 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ. 1989
ปัจจุบันนี้ชาวที่ทิเบตมีสิทธิเสรีภาพในด้านศาสนาในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์ในทิเบตจะดีขึ้นไปกว่าเดิมมากนัก จีนปิดปากสนิทเรื่องแผนสันติภาพที่ดาไลลามะพยายามรุกเร้าและจีนยังคงส่งชาวจีนเขาไปในทิเบตอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวทิเบตให้เข้าสู่วังวนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากขึ้น มีการส่งเสริมการลงทุนในทิเบตให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในด้านการศึกษา จีนส่งเสริมการเรียนภาษาแมนดารินและสนับสนุนผู้รู้ภาษาแมนดารินให้มีตำแหน่งสูงและมีความก้าวหน้าในการทำงาน
เมืองเอกของ ทิเบต : ลาซา ทิเบต เป็นเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของจีนในปัจจุบัน
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ที่ตั้ง
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และ มณฑลชิงไห่ ประเทศจีน
- ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศเนปาล ภูฏาน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน รัฐกะฉิ่น ประเทศพม่า รัฐอัสสัม รัฐนาคาแลนด์ ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน บริเวณที่มีเขตติดต่อกับประเทศอินเดียนี้ ยังเป็นบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งอินเดียได้อ้างกรรมสิทธิ์เข้ามาปกครอง และเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า อรุณาจัลประเทศ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ รัฐแจมมูและแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถาน
- ทิเบตตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลด้วยความสูงเฉลี่ย 4,000 เมตร พื้นที่ประกอบด้วยเทือกเขาที่มียอดเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนตลอดทั้งปี ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก 10 แห่ง อยู่ทางตอนใต้ของทิเบตด้านทิศใต้เป็นเทือกเขาหิมาลัย ทิศตะวันตกมีเทือกเขาการาโกรามขนาบอยู่ ส่วนทิศเหนือติดกับเทือกเขาคุนลุ้นและเทือกอัลไต ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภูมิประเทศยังเป็นป่าดงดิบที่ยังไม่ได้รับการสำรวจมีธารน้ำแข็ง โตรกผาสูงใหญ่ และหุบห้วย กับแม่น้ำที่เชี่ยวกรากอีกหลายสาย ทิเบตมีทะเลสาบหลายพันแห่ง (ทิเบตเรียกทะเลสาบว่า โซะหรือโซ tso) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดชื่อว่า นัมโซ (Nam-tso) และยัมดร็อกโซ (Yamdrok - tso) ทะเลสาบในทิเบตได้ชื่อว่าเป็นทะลเสาบบนที่รายสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังมีน้ำพุร้อนอยู่ทั่วไปบางพื้นที่ของทิเบตแห้งแล้งมากจนเป็นทะเลทรายที่มีสันทรายและพายุทรายที่ร้ายกาจทารุณอีกแห่งของโลก ดินแดนทางตอนเหนือของเมืองลาซาอยู่สูงกว่าทางตอนใต้ของประเทศตอนกลางประเทศเป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์และการทำเกษตร
- ประเทศทิเบตเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญๆหลายสายด้วยกันเพราะว่าทิเบตตั้งอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากซึ่งแม่น้ำสำคัญในทิเบตมีดังนี้คือ
- แม่น้ำแยงซี หรือ แยงซีเกียง (Yangtze) มีความยาว 6,300 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากบริเวณตอนเหนือของทิเบต แม่น้ำแยงซีไหลผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ไปลงทะเลที่บริเวณเมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai)
- แม่น้ำโขง หรือ แม่โขง (Mekong) แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรมีต้นกำเนิดจากบริเวณตอนกลางของทิเบตไหลผ่านจีนทางเมืองคุนหมิง (Kumming) ในมลฑลยูนนาน (Yunnan)
- แม่น้ำโขงไหลผ่านชายแดนประเทศไทย ลาว ผ่านตอนใต้ของเขมร และไหลลงทะเลจีนใต้บริเวณปากน้ำไซ่ง่อนที่กรุงโฮจิมินห์ของเวียดนาม ในบริเวณสันดรปากแม่น้ำโขงของเวียดนามเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอย่างมาก ทั้งในด้านการประมงและการการเกษตรกรรรม
- แม่น้ำสาละวิน (Salween) เป็นแม่น้ำคู่ขนานกับแม่โขง แม่น้ำสาละวินไหลผ่านประเทศพม่าและไหลลงที่อ่านมะตะบัน หรือเมาะตะมะ (GulF of Mattaban)
- แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra) นั้นมีต้นกำเนิดจากทางตอนใต้ของทิเบตไหลผ่านรัฐอัสสัม (Assam) ของอินเดียผ่านบริเวณชายแดนของภูฏาน ผ่านบังกลาเทศแล้วไหลลงทะเลในบริเวณอ่าวเบงกอล
- แม่น้ำคงคา (Ganges) มีต้นกำเนิดทางตอนใต้ของทิเบตโดยไหลผ่านอินเดีย ผ่านเมืองพาราณสี (Varanasi) ผ่านเมืองปัตนะ (Patana) ผ่านบังกลาเทศ และไหลลงทะเลที่อ่าวเบงกอล
- แม่น้ำยมุนา (Yumna) ไหลผ่านบริเวณกรุงเดลี ผ่านเมืองอัคระ (Agra) ไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาที่เมืองอัลลาฮาบัด (Allahabad)
- แม่น้ำสุดเลจ (Sutlej) มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณภูเขาไกลาส ไหลผ่านรัฐปัญจาบของอินเดีย ในรัฐปัญจาบของอินเดียนั้นมีความอุดมสบบูรณ์ทางด้านการเกษตรมากเพราะเกษตรกรมีน้ำสำหรับทำการเกษตรได้ดี อินเดียจึงถือว่ารัฐปัญจาบเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ
- แม่น้ำสินธุ (Indus) ไหลผ่านเมืองดาลัก (Ladakh) และแคว้นแคชเมียร์ ผ่านปากีสถาน ไหลไปลงทะเลที่อ่าวอามาน (Gulf of Oman)
|
คลิกวิดีโอ วิวเมืองลาซาถ่ายจากพระราชวังโปตาลา |
ภูมิอากาศ
เนื่องจากทิเบตอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก จึงมีปริมาณออกซิเจนในอากาศเบาบางสภาพอากาศทั่วไปในทิเบตมีอุณหภูมิต่ำและเปลี่ยนแปลงง่าย โดยในแต่ละวันอุณหภูมิอาจแตกต่างกันมากประมาณ 25-27 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ยแล้วทิเบตมีอากาศค่อนข้างเย็น และมีฝนตกน้อย ปริมาณออกซิเจนในอากาศเบาบางหากแต่มีแสงแดดจัดจ้า บริเวณที่ราบสูงทิเบตภูมิอากาศเป็นแบเขลมมรสุม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 7.5 องศาเซลเซียว
ช่วงเวลาที่ควรไปเยือนประเทศทิเบตคือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน หลักจากนั้นอากาซจะหนาวเย็นไปจนถึงเย็นจัดโดยเฉลี่ยแล้วเมืองลาซากับเมืองชิกัตเซ่อากาศดีกว่าที่อื่น อาจมีฝนตกบ้างเล็กน้อยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน อุปสรรคด้านภูมิอากาศที่สำคัญคือลมพายุที่รุนแรงมาก เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับคนชอบไต่เขา
ช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดคือช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีหิมะตกปกคลุมไปทั่วประเทศ ภัยธรรมชาติที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือพายุหิมะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ บางทีพายุหิมะก็ทำให้ทางขาด ฤดูหนาวของทิเบตได้ชื่อว่าหนาวทารุณที่สุด มีแต่ชาวทิเบตเท่านั้นที่จะทนต่ออากาศที่หนาวเยือกเย็นของที่รายสูงทิเบตได้
เดือนมีนาคมถึงเมษายนนั้นเป็นฤดูร้อนแสงแดดจัดจ้า แต่อากาศที่อบอุ่นขึ้นอาจทำให้หิมะที่ปกคลุมอยู่บนยอดเขาละลายไหลลงมากลายเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นฉับพลัน
ศาสนา : ศาสนาพุทธแบบทิเบต ดินแดนทิเบตในอดีตมีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก พุทธศาสนาแบบทิเบตมีเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนานิกายมหายานทั้งจากอินเดียและจีน ได้รับอิทธิพลจากพุทธศานานิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น ประชาชนใฝ่ธรรมะ เมื่อมีงานบุญ ประชาชนจะเดินทางไปแสวงบุญแม้จะไกลสักเพียงใด ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่เมื่อตกอยู่ในการปกครองของจีนวัดนับพันแห่งทั่วนครลาซา เหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแห่งในปัจจุบัน จนแทบไม่เหลือความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
การเตรียมตัวไปทิเบต
การทำวีซ่าทิเบต ต้องทำผ่านตัวแทนในประเทศจีน โดยการขอวีซ่าเขาทิเบตจะต้องขอผ่านจีนเท่านั้น ทิเบตมีหน่วยงานราชการที่แนะนำและส่งเสริมการท่องเที่ยวทิเบต ชื่อว่า Tibet Tourism Bureau (TTB) กับทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ออกหนังสืออนุญาตให้นักท่องเที่ยว (เป็นกรุ๊ปทัวร์) เข้าทิเบตได้ TTB มีสำนักงานต่างประเทศอยู่ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กาฐมาณฑุ และฮ่องกง ผู้ที่จะเดินทางไปทิเบตจะต้องได้รับการยินยอมให้เข้าทิเบตได้จาก Tourism Administration of the Tibet Antonomous Region หรือตัวแทนในต่างประเทศเสียก่อน โดยผู้ทำวีซ่าทิเบตต้องทำวีซ่าจีนให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึีงส่งวีซ่า และ หน้า passport ไปให้ตัวแทนดำเนินการทำวีซ่าทิเบต ต่อไป วีซ่าทิเบตใช้่เวลาทำการอย่างน้อย 3 วันช่วงเทศกาลไฮซีซั่นควรเผื่อเวลาสำหรับทำวีซ่าทิเบตไว้ด้วยคะ
การเตรียมตัวทั่วไป
ทิเบตเป็นดินแดนที่ราบสูง มีอากาศหนาวเย็นโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน และยามที่แสงหมด หรือ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว อากาศจะเย็นลงทันทีดังนั้นควรเตรียมเสื้อกันหนาวแจคเก็ตไว้ตลอดเวลา และ กลางวันมีแดดแรง ควรมีแว่นกันแดด และ ครีมกันแดดทาไว้ด้วยเสมอ อุณหภูมิเฉลี่ยทิเบต ตอนกลางวันอุณหภูมิเฉลี่ย 15-20 องศาเซลเซียส กลางคืนอุณหภูมิประมาณ7-15 องศาเซลเซียส
ประชากร ประชากร เป็นชาวทิเบต ชาวจีน
ข้อควรปฏิบัติสำหรับการอยู่ที่ราบสูง
เนื่องจากทิเบตนั้นตั้งอยู่ที่ระดับความสูงเฉลี่ยเกิน 4,000 เมตรเหนือน้ำทะเล ยิ่งระดับความสูงมากอากาศหรือปริมาณออกซิเจนก็ยิ่งเบาบางลง อาจทำให้เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ ง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการเริ่มต้นของการแพ้ความกดดันอากาศในที่สูง (Altitude Sickness) เท่านั้น โดยเรียกว่าการป่วยภูเขาแบบเฉียบพลันหรือ Acute Mountain Sickness (AMS) หากอาการหนักๆอาจกเกิดอาการสมองบวมซึ่งอาจถึงตายได้ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
- วันแรกที่เดินทางไปถึงควรพักผ่อนให้มากๆ
- ดื่มน้ำมากๆ กว่าปกติ ประมาณ 2 เท่า เป็นวันละ 3-4 ลิตร
- รับประทานอาหารประเภทแป้ง หรือ คาร์โบไฮเดรต ให้น้อยลง ให้รับประทานพวกช็อกโกแลต ลูกอม เพิ่มความสดชื่น
- งดเครื่องดื่มที่มีัคาเฟอีน และ อัลกอฮอล์
- งดรับประทานยานอนหลับ หรือ ยาที่ทำให้ง่วง
- หายใจลึกๆเดินและทำอะไรให้ช้าลง หยุดพักเมื่อเหนื่อยและหัวใจเต้นเร็ว ห้ามฝืนโดยเด็ดขาด
- หากจำเป็นต้องทานยา Diamox ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดันลูกตา ผลข้างเคียงของยานี้ทำให้ช่วยลดอาการ AMS ได้ แต่ปัญหาคือจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย โดยต้องทานยาล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเดินทางสู่ที่สูง หรืออาจทานยาหงจิ่งเทียน หรือเกาหยวนอัน ของจีนก็ได้ ยาหงจิ่งเทียนมีทั้งแบบน้ำ บรรจุขวดเล็กๆ รับประทานครั้งละ 1 ขวดเล็กๆ เช้า-เย็น หรือ แบบเม็ด ให้รับประทานเช้า 1 เม็ด และ เย็น 1 เม็ด ขวดหนึ่งมี 30 เม็ด สะดวกในการพกพาคะ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาในลาซา
โทรศัพท์ และ การติดต่อสื่้อสาร ซิมที่ซื้่อจากทิเบต สามารถใช้โทรภายในทิเบต และ โทรมายังจีน ค่ะ หากต้องการโทรออกต่างประเทศแนะนำให้ใช้จากที่โรงแรม หรือ เปิดโรมมิ่งไปจากเมืองไทย ซึ่งค่าบริการจะมีราคาสูงนาทีละ 40-60 บาท กันเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก
1. หนังสือ Horizon : Tibet จักรชัย บุตรศรีคุ้ย สำนักพิมพ์ Centerpoint Entertainment
2. คู่มือนักเดินทางฉบับพกพา ทิเบต จากหนังสือในเครือ เที่ยวรอบโลก
3. wikipidia
|
|
|
|
ทะเลสาบยัมดร็อก |
ทะเลสาบยัมดร็อก |
วิวระหว่างนั่งรถไฟ |
วิวระหว่างนั่งรถไฟ |
|
ทะเลสาบนัมโซ เดือน พฤษภาคม |
|
วิวระหว่างทางไปทะเลสาบยัมดร็อก |
|
วิวระหว่างการนั่งรถไฟสายหลังคาโลก |
|
วิวระหว่างทาง จากรถไฟสายหลังคาโลก |
รูปโดย ทริปดีดี ดอทคอม |